Five Hindrances นิวรณ์ 5

นิวรณ์ 5 คือเครื่องปิดกั้นจิตไม่ให้เข้าสู่สมาธิ นิวรณ์ 5  กำเนิดจากอวิชชาเป็นรากเง่า การขจัดนิวรณ์ 5 ได้ ย่อมทำให้จิตเกิดสมาธิ

  1. กามฉันทะ ความยินดี พอใจ ความอยากที่จะได้รับความสุข อันเกิดจาก การเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การได้รับรส การสัมผัสทางเนื้อหนัง แก้ได้โดยใช้การพิจารณาอาการ 32 ประการของร่างกาย
     หรือ อสุภกรรมฐาน เป็นต้น

  2. พยาปาทะ คือ ความขุ่นโกรธ
    รำคาญใจ แก้ได้โดยการพิจารณาโทษอันเกิดจากการเก็บความขุ่นโกรธ ความอาฆาต และเห็นประโยชน์ของการให้อภัย ระลึกถึงคุณความดีของบุคคลนั้นที่ทำให้เราไม่พอใจ เพราะคลายพยาปาทะ

  3. อุทธัจจะกุกกุจจะ แยกเป็นอุทธัจจะ คือความฟุ้งซ่านของจิต และกุกกุจจะคือความรำคาญใจ อุทธัจจะนั้นคือการที่จิตไม่สามารถยึดอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เป็นเวลานาน จึงเกิดอาการฟุ้งซ่าน เลื่อนลอยไปเรื่องนั้นที เรื่องนี้ที ส่วนกุกกุจจะนั้นเกิดจากความกังวลใจ หรือไม่สบายใจถึงอกุศลที่ได้ทำไปแล้วในอดีต ว่าไม่น่าทำไปอย่างนั้นเลย หรือบุญกุศลต่างๆ ที่ควรทำแต่ยังไม่ได้ทำ ว่าน่าจะได้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ แก้โดยใช้อานาปานสติ และปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ

  4. ถีนมิทธะ แยกเป็นถีนะ คือ ความหดหู่ท้อถอย และมิทธะ คือ ความง่วงเหงาหาวนอน ถีนะและมิทธะนั้นมีอาการแสดงออกที่คล้ายกันมาก คือทำให้เกิดอาการเซื่องซึมเหมือนกัน ทำให้เกิดความย่อท้อ เบื่อหน่าย ไม่มีกำลังที่จะทำความเพียรต่อไป เกิดจากความเมื่อยล้าอ่อนเพลียของร่างกาย หรือจิตใจจริง ๆ เนื่องจากตรากตรำมามาก หรือขาดการพักผ่อนที่เพียงพอ หรือการรับประทานอาหารที่มากเกินไป แก้โดย นั่งเพ่งดูแสงสว่าง ล้างหน้า ขยับตัว อยู่ในที่มีอากาศถ่ายเทดี หรือ เดินจงกรมเป็นต้น

  5. วิจิกิจฉา คือ ความลังเลสงสัย ไม่แน่ใจ หรือไม่ปักใจเชื่อว่าสิ่งใดถูกสิ่งใดผิด หรือควรทำแบบไหนดี จิตจึงไม่อาจมุ่งมั่นในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งได้อย่างเต็มที่ สมาธิจึงไม่เกิดขึ้น แก้โดยปรึกษาครูอาจารย์ แล้วลงมือปฏิบัติจนกว่าจะเห็นผลจริง

นิวรณ์ทั้ง 5 เป็นอุปสรรคสำคัญในการทำสมาธิ ถ้านิวรณ์ตัวใดตัวหนึ่ง หรือหลายตัวเกิดขึ้น สมาธิก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้เลย แต่นิวรณ์ทั้ง 5 นี้ไม่เป็นตัวขวางกั้นวิปัสสนาเลย ทั้งยังเป็นประโยชน์แก่วิปัสสนาอีกด้วย เพราะวิปัสสนานั้นเป็นการเรียนรู้ธรรมชาติของสรรพสิ่ง ไม่ว่าขณะนั้นอะไรจะเกิดขึ้น ก็เป็นประโยชน์ให้เรียนรู้ได้เสมอ นิวรณ์ทั้ง 5 นี้ก็เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง ๆ ของจิตที่เป็นประโยชน์ในการเรียนรู้ ให้เห็นถึงความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ไม่อยู่ในอำนาจของจิตเช่นกัน

To be continued in English.